วันอังคารที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2556

HIROSHIMA (ฮิโรชิมะ) นครแห่งสันติภาพ

HIROSHIMA (ฮิโรชิมะ) นครแห่งสันติภาพ


เมืองฮิโรชิมะ เป็นศูนย์กลางการค้าและการคมนาคมเพราะมีรถไฟด่วนพิเศษสายซันโยชินคันเซน (Sanyo Shinkansen) เชื่อมระหว่างภูมิภาคคันไซ จากเมืองโอซะกะ (Osaka) ที่สถานีชินโอซะกะ (ShinOsaka) ไปถึงสถานีฟุคุโอกะ (Fukuoka) บนภูมิภาคคิวชู (Kyushu) ส่งผลให้การท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้สะดวกรวดเร็วน่าเที่ยวยิ่งขึ้น ใจกลางเมืองเป็นย่านธุรกิจ มีร้านค้าเปิดไฟสว่างไสวบนถนนคนเดินที่คึกคักตลอด ชวนให้น่าจับจ่ายซื้อของ นักท่องเที่ยวสามารถแวะชิมอาหารลือชื่อของเมืองนี้ที่เรียกว่า โอโคโนมิยะคิ” (Okonomiyaki) หรือที่เรียกว่าพิซซ่าญี่ปุ่น ซึ่งผัดบนกะทะแผ่นเหล็กร้อน สามารถตักรับประทานจากกะทะเลยได้อร่อยเข้ากับบรรยากาศแบบญี่ปุ่น

ฮิโรชิมะ เป็นจังหวัด 1 ใน 5 บนภูมิภาคจูโกขุ (Chugoku) ตั้งอยู่ในทำเลดีที่สุด บนชายฝั่งทะเลในเซโตะ (Seto Inland Sea)
ทางใต้ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหารสดจากทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หอยนางรม และปลาไท (กระพงแดง) ทางแถบท่าเรือฟุคุยะมะ
ทางตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดโอคะยะมะ(Okayama)
ทางตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดยะมะงุจิ (Yamaguchi) และเกาะมิยะหยิมะ (Miyajima) ซึ่งเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าอิจึคุชิมะ (Itsukushima) ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม
ทางเหนือ ติดต่อกับจังหวัดชิมะเนะ (Shimane) เป็นที่ราบสูงใช้เพาะปลูก ทำสวนดอกไม้ สวนผลไม้ต่างๆ เช่น ส้ม บลูเบอร์รี่ และรีสอร์ทเล่นสกี

(A-Bomb Dome)
แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ใกล้เมือง มีหลายแห่ง อาทิ Atomic Dome (Genpaku Dome) หรือ A-Bomb Dome ซึ่งเป็นอาคารทรงโดม ที่เคยโดนระเบิดปรมาณูในวันที่ 6 สิงหาคม 1945 สภาพความเสียหาย ณ ขณะนั้น ยังคงหลงเหลือให้เห็น ปัจจุบันได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพอย่างถาวรที่ชาวโลกเรียกร้องให้กลับคืนมาและได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม
   
(สวนสันติภาพฮิโรชิมะ)


สวนสันติภาพฮิโรชิมะ เป็นอนุสรณ์แห่งสันติภาพ ภายในสวนมีอนุสาวรีย์ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อขอพรให้เกิดสันติภาพมากมายเช่น อนุสรณ์จารึกชื่อผู้เสียชีวิต และเด็กที่ได้รับผลกระทบจากระเบิดจนเสียชีวิตในครั้งนั้นด้วย บริเวณใกล้เคียงมีพิพิธภัณฑ์สงคราม ที่จัดแสดงภาพถ่ายและสภาพต่างๆ ที่ได้ถูกบันทึกไว้หลังจากถูกทิ้งระเบิดช่วงเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง


ปราสาทฮิโรชิมะ (Hiroshima Jyo) ที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1599 และได้รับการซ่อมใหม่ในปี ค.ศ. 1958 หลังจากที่ได้รับความเสียหายจากระเบิดปรมาณู ปัจจุบันภายในตัวปราสาทถูกใช้เป็นที่จัดแสดงเอกสารทางประวัติศาสตร์ด้านวัฒนธรรมและการต่อสู้ของนักรบชาวญี่ปุ่น พื้นที่โดยรอบปราสาทเป็นสวนชมดอกดอกซากุระในฤดูใบไม้ผลิที่งามสะพรั่งด้วยดอกดอกซากุระสีขาวปนชมพู
การเดินทาง จากสถานีรถไฟฮิโรชิมะ มีรถรางแล่นเข้ากลางเมือง สามารถแวะลงที่สถานี Genpaku Dome ชมอาคารก่อน จากนั้นจะต่อไปยังสถานีปราสาทฮิโรชิมะก็ได้ โดยใช้บัตรโดยสารรายวันจะสะดวกที่สุด

(ปราสาทฟุคุยะมะโจ)

เมืองฟุคุยะมะ (Fukuyama) ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเมืองที่ผสมผสานความทันสมัยของเมืองกับความเก่าแก่ของปราสาทฟุคุยะมะโจ และพิพิธภัณฑ์ฟุคุยะมะโจ อีกทั้งเมืองท่าโทโมโนะอุระที่เคยรุ่งเรืองมาก ปัจจุบันเป็นเมืองท่องเที่ยวริมทะเลในเซโตะที่ยังมีร่องรอยแห่งประวัติศาสตร์ให้ได้เดินชมมากมาย เมืองท่าแห่งนี้มีการจับปลากระพงแดง (ปลาไท) มาตั้งแต่ 370 ปีก่อน ในเดือนพฤษภาคมของทุกปีจะมีการสาธิตการจับปลาไทให้ชมด้วย
การเดินทาง จากสถานี JR Hiroshima โดยสายรถด่วนพิเศษ Sanyo Shinkasen ลงที่สถานี JR Fukuyama ใช้เวลา เพียงครึ่งชั่วโมงเท่านั้น

ทางใต้มีเกาะน้อยใหญ่ที่ถูกเชื่อมด้วยสะพานแขวน10 แห่ง และถนนจักรยานเรียกว่า ชิมะนะมิไคโด

(เกาะมิยะจิมะ)

เมืองฮิโรชิมะจะอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ เป็นเกาะมิยะจิมะ ที่มีภูมิทัศน์งามเป็น 1 ใน 3 แห่งของญี่ปุ่น เกาะนี้มีเสน่ห์ทุกฤดูกาล เที่ยวได้ตลอดปี ในฤดูใบไม้ผลิจะสวยด้วยดอกซากุระ  ฤดูร้อนจะเขียวขจีตัดกับสีแสดของ ศาลเจ้า Itsukushima ที่มีทางเดินไม้บนทะเลรอบตัวศาลเจ้าเป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมในสมัยเฮอัน และประตูโทริอิสีแสดที่ทำจากไม้ของต้นการบูรขนาดใหญ่อายุราว 500 ปี สูง 16 เมตร หนัก 60 ตันตั้งตระหง่านในทะเล เป็นภาพทิวทัศน์ที่สวยงามน่าประทับใจมาก ในฤดูใบไม้ร่วงก็จะมีสีสันสวยสดด้วยใบเมเปิ้ลแดงทั้งเกาะ และฤดูหนาวจะกลายเป็นรีสอร์ทอาบน้ำแร่ที่แสนโรแมนติคริมทะเลในเซโตะ บนเกาะมีถนนมะจิยะและอาคารเก่าแก่ที่ได้รับการปรับเปลี่ยนเป็นร้านค้าขายขนมไข่เมเปิ้ล ซึ่งเป็นของฝากขึ้นชื่อสำหรับนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นตลอดปี
การเดินทาง จากสถานี JR Hiroshima โดยรถไฟสาย JR Miyajimaguchi ลงที่สถานี Miyajimaguchi ใช้เวลา 30 นาที แล้วเดินไปขึ้นเรือข้ามเกาะที่ท่าเรือ JR Ferry ใช้เวลาเพียง10 นาทีเท่านั้น




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น